วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ปรากฎความหมายเป็นเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4311/2557
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268
               จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันพิมพ์ปลอมหนังสือแต่งตั้งตัวแทน จำหน่ายอุปกรณ์กันระเบิด แบรนด์ บ. และพิมพ์ข้อความระบุเงื่อนไขในการสั่งซื้อ ราคาขายและส่วนลด เงื่อนไขในการชำระเงิน การส่งเสริมการขายและเงื่อนไขที่ทำให้ตัวแทนจำหน่ายสิ้นสุดลง แล้วลงลายมือชื่อปลอมของนาย อ. ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งประทับตราบริษัท บ. จำกัด ลงในหนังสือแต่งตั้งตัวแทนดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์
               "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมาย ด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันพิมพ์หนังสือแต่งตั้งตัวแทนการจำหน่ายอุปกรณ์กันระเบิด แบรนด์ บ. พร้อมรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถือเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นวัตถุอื่นใดทำให้ปรากฏความหมายซึ่งสามารถอ่านหรือเห็นความหมายได้โดยบุคคลที่พิมพ์ตัวอักษรนั้น แล้วเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถนำไปใช้ได้เมื่อต้องการจะใช้ จึงเป็นเอกสารตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
               "เอกสารสิทธิ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ  เมื่อหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์กันระเบิด แบรนด์ บ. ปลอม มีข้อความว่า ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการจำหน่าย พร้อมระบุเงื่อนไขในการสั่งซื้อ ราคาขายและส่วนลด เงื่อนไขในการชำระเงิน การส่งเสริมการขาย และเงื่อนไขที่ทำให้ตัวแทนจำหน่ายสิ้นสุดลง ดังนี้ หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงเอกสารที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมแทนผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ จึงไม่ใช่เป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เท่านั้น
                ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ทั้งเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปลอมเอกสารสิทธิและเอกสารราชการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8815/2554
ป.อ. มาตรา 137, 267, 268
                 เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ คือ รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย มิใช่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากการแจ้งดังกล่าว
                 ดังนั้น การที่จำเลยใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แสดงต่อธนาคาร พ. สาขาบ้านไร่ จึงไม่ใช่การใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267
                 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง หมายความว่า หากผู้ใช้หรือผู้อ้างเอกสารปลอมนั้น เป็นผู้ปลอมเอกสารหรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารด้วย ก็ให้ลงโทษฐานใช้หรืออ้างตามมาตรา 268 วรรคแรก แต่เพียงกระทงเดียว ไม่ต้องลงโทษฐานปลอมหรือฐานแจ้งด้วยอีกกระทงหนึ่ง
                 ดังนั้น การที่จำเลยใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งและเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารด้วย จึงต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งแต่เพียงกระทงเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง
                 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267 แต่เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2539
ป.อ. มาตรา 1 (8) , 1 (9) , 157 , 266 (1)
               เอกสารที่ใช้ประกอบเป็นรายงานการเดินทางไปราชการ ได้แก่ ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน ที่แสดงว่าได้จ่ายเงินไปจริง โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ข้าราชการผู้นั้นเซ็นชื่อรับเงินไว้ด้วย เพื่อเบิกเงินจากส่วนราชการไปจ่ายให้ และเอกสารการรับเงินที่ส่งไปล้างฎีกาเพื่อแสดงว่าได้มีการจ่ายเงินไปถูกต้องแล้วนั้น เป็นหลักฐานแห่งการก่อและระงับสิทธิในเงินค่าใช้จ่ายไปราชการ ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นและรับรองในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) และ (9)
             จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานทั่วไป และช่วยควบคุมการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการในสังกัดจำนวนหลายคนด้วยกัน จึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 , 266 (1) , 268 ประกอบมาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2537
               การที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า น.ส. 3 ก. เลขที่ 2076 ของจำเลยที่เก็บไว้ที่บ้านสูญหายไป จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งเป็นความเท็จการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
              จำเลยได้ทำนิติกรรมขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2076 ไปแล้ว น.ส.3 ก. เลขที่ดังกล่าวจึงมิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย แต่จำเลยกลับให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่นั้น และรับรองว่าจำเลยมิได้ทำนิติกรรมหรือมีภาระติดพันอื่นใดเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ตามใบไต่สวนซึ่งเป็นเอกสารราชการ และให้ถ้อยคำตามเอกสารซึ่งเป็นเอกสารราชการว่า น.ส.3 ก. เลขที่ดังกล่าวเก็บไว้ที่บ้านสูญหายไป การกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
              จำเลยนำภาพถ่ายสำเนา น.ส. 3 ก. เลขที่ 2076 มาแก้ไขโดยการเพิ่มเติมตัดทอนข้อความ และแก้รูปแผนที่ที่ดินให้ผิดไปจากความจริง แล้วจำเลยได้ถ่ายภาพสำเนาดังกล่าวเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่าเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเป็นภาพถ่ายสำเนาที่แท้จริงที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยได้นำภาพถ่ายสำเนาที่จำเลยทำขึ้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266 - 2278/2519
ป.อ. มาตรา 1 (8) (9) , 90 , 147 , 251 , 253 , 266
ป.วิ.อ. มาตรา 218
               โจทก์ฟ้องจำเลย 13 สำนวน สำนวนละหลายข้อหา เมื่อข้อหาฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยสำนวนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน และข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกสำนวนละ 1 ปี นั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษของแต่ละกระทงความผิดและของแต่ละสำนวนที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
               จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนตามฟ้อง จำเลยไม่ได้รับแจ้งข้อหาและปรึกษาทนายความกับจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และที่โจทก์จำเลยต่างฎีกาว่า กำหนดโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงมานั้นหนักหรือเบาเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
               ใบเสร็จรับเงินซึ่งทางราชการออกให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ เป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้วและมีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
               การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแผนกทะเบียนยานพาหนะ ปลอมใบเสร็จรับเงิน แล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินนั้น ก็โดยเจตนาทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับ เพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตาม มาตรา 266 และ 253

นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  52/2553
ป.อ. มาตรา 269/5, 269/7
ป.วิ.อ. มาตรา 43
             โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐานนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เบิกถอนเงินสด จำนวน 100,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และมาตรา 269/7
            เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยได้ลักไป เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและธนาคาร ซ. และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวด้วย
              ดังนั้น ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลย ฐานลักเงินของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าว ก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสด ผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัตินั่นเอง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยแล้ว
              ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2512/2550
ป.อ. มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7, 334
             โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน
             ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท
             เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543
               การที่จำเลยเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไปจากผู้เสียหาย แล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหาย โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภท และเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม
               การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188
              บัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหาย 2 ใบ เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำจำเลยที่ใช้บัตรเอ ที เอ็ม ๒ ใบ ของผู้เสียหายแล้วลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกัน แม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม