คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8815/2554
ป.อ. มาตรา 137, 267, 268
เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ คือ รายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย มิใช่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากการแจ้งดังกล่าว
ดังนั้น การที่จำเลยใช้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แสดงต่อธนาคาร พ. สาขาบ้านไร่ จึงไม่ใช่การใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง หมายความว่า หากผู้ใช้หรือผู้อ้างเอกสารปลอมนั้น เป็นผู้ปลอมเอกสารหรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารด้วย ก็ให้ลงโทษฐานใช้หรืออ้างตามมาตรา 268 วรรคแรก แต่เพียงกระทงเดียว ไม่ต้องลงโทษฐานปลอมหรือฐานแจ้งด้วยอีกกระทงหนึ่ง
ดังนั้น การที่จำเลยใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งและเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารด้วย จึงต้องลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งแต่เพียงกระทงเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 267 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 267 แต่เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2539
ป.อ. มาตรา 1 (8) , 1 (9) , 157 , 266 (1)
เอกสารที่ใช้ประกอบเป็นรายงานการเดินทางไปราชการ ได้แก่ ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน ที่แสดงว่าได้จ่ายเงินไปจริง โดยมีหลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการที่ข้าราชการผู้นั้นเซ็นชื่อรับเงินไว้ด้วย เพื่อเบิกเงินจากส่วนราชการไปจ่ายให้ และเอกสารการรับเงินที่ส่งไปล้างฎีกาเพื่อแสดงว่าได้มีการจ่ายเงินไปถูกต้องแล้วนั้น เป็นหลักฐานแห่งการก่อและระงับสิทธิในเงินค่าใช้จ่ายไปราชการ ซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นและรับรองในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) และ (9)
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานทั่วไป และช่วยควบคุมการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการในสังกัดจำนวนหลายคนด้วยกัน จึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 , 266 (1) , 268 ประกอบมาตรา 157
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2537
การที่จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า น.ส. 3 ก. เลขที่ 2076 ของจำเลยที่เก็บไว้ที่บ้านสูญหายไป จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งเป็นความเท็จการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
จำเลยได้ทำนิติกรรมขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2076 ไปแล้ว น.ส.3 ก. เลขที่ดังกล่าวจึงมิได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย แต่จำเลยกลับให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่นั้น และรับรองว่าจำเลยมิได้ทำนิติกรรมหรือมีภาระติดพันอื่นใดเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ตามใบไต่สวนซึ่งเป็นเอกสารราชการ และให้ถ้อยคำตามเอกสารซึ่งเป็นเอกสารราชการว่า น.ส.3 ก. เลขที่ดังกล่าวเก็บไว้ที่บ้านสูญหายไป การกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
จำเลยนำภาพถ่ายสำเนา น.ส. 3 ก. เลขที่ 2076 มาแก้ไขโดยการเพิ่มเติมตัดทอนข้อความ และแก้รูปแผนที่ที่ดินให้ผิดไปจากความจริง แล้วจำเลยได้ถ่ายภาพสำเนาดังกล่าวเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่าเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเป็นภาพถ่ายสำเนาที่แท้จริงที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยได้นำภาพถ่ายสำเนาที่จำเลยทำขึ้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2266 - 2278/2519
ป.อ. มาตรา 1 (8) (9) , 90 , 147 , 251 , 253 , 266
ป.วิ.อ. มาตรา 218
โจทก์ฟ้องจำเลย 13 สำนวน สำนวนละหลายข้อหา เมื่อข้อหาฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยสำนวนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน และข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกสำนวนละ 1 ปี นั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษของแต่ละกระทงความผิดและของแต่ละสำนวนที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนตามฟ้อง จำเลยไม่ได้รับแจ้งข้อหาและปรึกษาทนายความกับจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และที่โจทก์จำเลยต่างฎีกาว่า กำหนดโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงมานั้นหนักหรือเบาเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ใบเสร็จรับเงินซึ่งทางราชการออกให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ เป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้วและมีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแผนกทะเบียนยานพาหนะ ปลอมใบเสร็จรับเงิน แล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินนั้น ก็โดยเจตนาทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับ เพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตาม มาตรา 266 และ 253