วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  52/2553
ป.อ. มาตรา 269/5, 269/7
ป.วิ.อ. มาตรา 43
             โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐานนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เบิกถอนเงินสด จำนวน 100,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 ไป อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/5 และมาตรา 269/7
            เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายว่า จำเลยได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ซ. ซึ่งได้ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่จำเลยได้ลักไป เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสด ถอนเงินสดจำนวน 100,000 บาท ไปจากวงเงินเครดิตของผู้เสียหายที่ 2 โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและธนาคาร ซ. และยังมีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวด้วย
              ดังนั้น ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่า โจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลย ฐานลักเงินของผู้เสียหายที่ 2 อยู่ด้วย เพียงแต่วิธีการลักเงินดังกล่าว ก็โดยการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินสด ผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัตินั่นเอง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยแล้ว
              ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้เรียกทรัพย์สินหรือใช้ราคาแทนผู้เสียหายที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2512/2550
ป.อ. มาตรา 91, 188, 269/5, 269/7, 334
             โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน
             ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท
             เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543
               การที่จำเลยเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไปจากผู้เสียหาย แล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหาย โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภท และเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม
               การที่จำเลยลักเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 188
              บัตรเอ ที เอ็ม ของผู้เสียหาย 2 ใบ เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำจำเลยที่ใช้บัตรเอ ที เอ็ม ๒ ใบ ของผู้เสียหายแล้วลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกัน แม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  671/2539
ป.อ. มาตรา 334, 335, 341
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
            การที่จำเลยรับอาสาว่าจะนำบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายไปตรวจสอบยอดเงินในบัญชีเงินฝาก แต่กลับนำบัตรบริการเงินด่วนดังกล่าวไปเบิกถอนเงินจากตู้ เอ.ที.เอ็ม.ของธนาคาร เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า จำเลยหลอกลวงเอาบัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้เบิกถอนเอาเงินจากตู้เอ.ที.เอ็ม. และการที่จำเลยใช้บัตรบริการเงินด่วนของผู้เสียหายเบิกถอนเงิน ถือได้ว่าเงินที่จำเลยเบิกถอนจากตู้ เอ.ที.เอ็ม. เป็นเงินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
            แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลก็ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม