วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ปรากฎความหมายเป็นเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4311/2557
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268
               จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันพิมพ์ปลอมหนังสือแต่งตั้งตัวแทน จำหน่ายอุปกรณ์กันระเบิด แบรนด์ บ. และพิมพ์ข้อความระบุเงื่อนไขในการสั่งซื้อ ราคาขายและส่วนลด เงื่อนไขในการชำระเงิน การส่งเสริมการขายและเงื่อนไขที่ทำให้ตัวแทนจำหน่ายสิ้นสุดลง แล้วลงลายมือชื่อปลอมของนาย อ. ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งประทับตราบริษัท บ. จำกัด ลงในหนังสือแต่งตั้งตัวแทนดังกล่าวในเครื่องคอมพิวเตอร์
               "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมาย ด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันพิมพ์หนังสือแต่งตั้งตัวแทนการจำหน่ายอุปกรณ์กันระเบิด แบรนด์ บ. พร้อมรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถือเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นวัตถุอื่นใดทำให้ปรากฏความหมายซึ่งสามารถอ่านหรือเห็นความหมายได้โดยบุคคลที่พิมพ์ตัวอักษรนั้น แล้วเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถนำไปใช้ได้เมื่อต้องการจะใช้ จึงเป็นเอกสารตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
               "เอกสารสิทธิ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ  เมื่อหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์กันระเบิด แบรนด์ บ. ปลอม มีข้อความว่า ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการจำหน่าย พร้อมระบุเงื่อนไขในการสั่งซื้อ ราคาขายและส่วนลด เงื่อนไขในการชำระเงิน การส่งเสริมการขาย และเงื่อนไขที่ทำให้ตัวแทนจำหน่ายสิ้นสุดลง ดังนี้ หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงเอกสารที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมแทนผู้เสียหายเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อตั้งสิทธิ จึงไม่ใช่เป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เท่านั้น
                ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ทั้งเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้นเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง